วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจดเอกสารการเรียน

เรียนให้เก่งแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียว

เราเป็นนักเรียนมาตลอดชีวิต คิดว่าซักวันจะได้ออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัยซักที แต่ก็ทำไม่ได้ และคิดว่าหน้าที่การงานก็คงไม่พ้นการอยู่ในมหาลัยต่อไปนี่แหละ

หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า "สมุดโน้ตของนักเรียนที่สอบเข้าโทไดได้นั้นจะต้องสวยงาม" มันอาจจะแปลเป็นไทยได้ดีกว่านี้ แต่ก็ช่างมันเหอะเอาเป็นว่ามันสื่อก็แล้วกัน สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ทำเอาไว้ก็คือ การรวบรวมสมุดโน้ตของนักศึกษาโทไดตั้งแต่อดีต (50 ปีก่อน) จนกระทั่งปัจจุบันเป็นจำนวน 200 กว่าเล่มแล้วนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน จนสามารถสรุปสิ่งที่เหมือนกันของสมุดโน้ตเหล่านี้ออกมาได้ 7 ข้อ ก่อนที่เราจะบอกว่า 7 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง ลงกดเข้าไปดูรูปของสมุดโน้ตเหล่านั้นกันดูก่อนก็แล้วกัน กดที่ภาพแล้วมันจะลิงค์ไปที่ original size อะนะ เราไม่มีสแกนเนอร์ ถ่ายออกมาได้ชัดแค่นี้แหละ -0-



ในหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่านักศึกษาโทไดส่วนมากจะมีความสามารถในการจดบันทึกการเรียนของตัวเองอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยส่วนมากนักเรียน เมื่อเริ่มเทอมใหม่ก็จะซื้อสมุดใหม่มาใช้ ความเห่อ ตื่นเต้น ใจจดใจจ่อ จะทำให้เราเขียน หรือจดเลคเชอร์ได้สวยงามเป็นพิเศษในช่วงแรกๆ แต่พอเวลาผ่านไปนานๆ เข้า การจดเลคเชอร์ของเราก็จะไม่เรียบร้อยขึ้นเรื่อยๆ แต่นักศึกษาโทไดเหล่านี้ไม่ใช่อย่างนั้น พวกเขาสามารถจดเลคเชอร์ได้อย่างเป็นระเบียบสวยงามตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้ายของสมุด ไม่มีการเลิกเขียนหรือว่าจดแบบเละๆ ตอนกลางทาง ว่าง่ายๆ ก็คือความสนใจและเอาใจใส่ต่อการจดเลคเชอร์นั้นเสมอต้นเสมอปลายตลอดตั้งแต่ต้นเทอมจนปลายเทอม ไม่รู้ว่ามีใครเป็นอย่างเราบ้างรึเปล่าที่พอเห็นสมุดจดสวยๆ แล้วก็อยากทำให้ได้แบบนี้บ้าง

สิ่งที่เหมือนกัน 7 ประการในสมุดโน้ตเหล่านี้ หรือหลักสำคัญในการจดเลคเชอร์ของนักเรียนเหล่านี้ก็คือ

1. มีการย่อหน้าเข้าไปเพื่อแบ่งหมวดหมู่ โน้ตเหล่านี้ไม่ได้เขียนย่อหน้าที่เท่ากันหมด

2. มีการวาดรูปประกอบถ้าจำเป็น หรือถ้าหากไม่วาดก็จะใช้วิธีซีรอกซ์มาแปะ

3. เว้นเนื้อที่ไว้ค่อนข้างมาก เผื่อเวลาที่ต้องการจะจดอะไรเพิ่มเติม ไม่ได้เขียนลงไปทุกตารางเซนติเมตรในแต่ละหน้า

4. มีการใช้ index หรือแถบกระดาษแปะเพื่อที่จะได้รู้ว่าอะไรอยู่หน้าไหน บางคนถึงกับทำสารบัญด้วย

5. จะจดให้เนื้อหาอยู่ในหน้าเดียว หรือพยายามให้จบในหน้านั้นๆ จะไม่เขียนให้ต้องพลิกไปหน้าถัดไป ถ้าหากเนื้อที่ไม่พอก็จะใช้กระดาษอื่นมาเสริม

6. มีการสร้างรูปแบบการจดที่เป็นเฉพาะของตนเอง เช่นภาษาอังกฤษก็จะมีการแบ่งหน้ากระดาษสำหรับเขียนความหมายของคำศัพท์ลงไปในหน้าเดียวกันด้วย

7. และแน่นอนที่สุด เขียนอย่างเป็นระเบียบสวยงาม

การจดเลคเชอร์ตามหลักนี้จะทำให้ได้สมุดเลคเชอร์ที่สวยงาม น่าอ่านแล้วเราก็จะเรียนเก่งขึ้นอีกด้วย จริงๆ เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนญี่ปุ่น นักเรียนชาติไหนๆ ก็สามารถนำมาปรับใช้และสร้างสมุดโน้ตที่สวยงามของตัวเองออกมาได้ การจดเลคเชอร์เราไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาแพง แค่มีสมุดและปากกาที่เขียนและจดอย่างสวยงามเป็นระเบียบ แค่นี้ก็เลิศแล้วละ

อันล่างนี่เป็นสมุดของเราเอง - -" ยังห่างไกลคำว่าสวยงามอีกเยอะ แต่ต่อจากนี้ไปก็จะพยายามให้มากขึ้น